
จังหวัดระยองเป็นอีกหนึ่งจังหวัดในประเทศไทยที่มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน มีความสำคัญในแง่ของประวัติศาสตร์และมีความสำคัญในฐานะที่เป็นฐานทัพและที่ยาตราทัพผ่านของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่จะทรงบุกตีเมืองจันทบูร ดังนั้นจึงมีหลายๆ สถานที่ในจังหวัดระยองที่ถือเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ โดยมี 5 สถานที่สำคัญ ที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะแวะไปเยี่ยมชม เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตในอดีตของชาวเมืองระยอง




?1.วัดแหลมสน
? ต.ปากน้ำกระแส อ.แกลง จ.ระยอง 21110
วัดแหลมสน มีชื่อเรียกทางการว่า วัดสมมติเทพฐาปนาราม จากประวัติความเป็นมา วัดนี้ถูกสร้างขึ้นตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เมื่อครั้งที่เสด็จประพาสเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออก เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ปี พ.ศ 2427 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จขึ้นประทับที่ ต.ปากน้ำประแส ฝั่งแหลมสน ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลน และเสด็จมายังบริเวณใกล้กับเจดีย์สถานที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นราวปี พ.ศ 2416 เมื่อพระองค์ทอดพระเนตรเห็น จึงทรงมีพระราชดำริ และประทานพระบรมราชโองการให้พระแกลงแกล้วกล้า (มั่ง) ผู้ว่าราชการเมืองแกลงในเวลานั้น ให้สร้างพระอารามขึ้น เพื่อเป็นพระราชกุศลในพระองค์ และพระราชทานนามว่า “วัดสมมติเทพฐาปนาราม”โดยทรงพระราชทานเนื้อที่ 10 ไร่ในการสร้างกุฎิเจ้าอาวาส กุฏิสงฑ์ หอสวดมนต์ และหอฉัน พร้อมพระราชทานทรัพย์สินหลายอย่างที่มีความสำคัญทางศาสนาให้แก่วัด ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นโบราณวัตถุที่มีค่าทางประวัติศาสตร์ด้วย เช่น ตู้พระไตรปิฏก และหนังสือพระไตรปิฏก ธรรมสาสน์ลายรำน้ำ โต๊ะหมู่บูชาลายทอง ตะเกียงโคมแขวน ถุงย่ามจากการเสด็จประพาสยุโรป เป็นต้น ตัววัดก่อสร้างโดยใสช้ทรายจากทะเลและดินลูกรังมาถมเป็นบริเวณวัด ในปีที่มีการผูกพัทธสีมาครั้งแรง ทางกระทรวงธรรมการได้ส่งธรรมาสน์และพระบรมรูปหล่อของรัชกาลที่ 5 มาประทับ ณ พระอารามหลวง ต่อมาได้มีการสร้างพระอุโบสถใหม่ขึ้น โดยปัจจัยเงินบริจาคจากชาวบ้านและพ่อค้าวานิชต่างๆ กระทั่งปี พ.ศ. 2521 ได้รับพระราชทานที่ดินเพิ่ม จึงมีการขยายพื้นที่วัดออกไปอีก ร่วม 131 ไร่ ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่าวัดแหลมสน




?2. วัดบ้านค่าย
? 145 หมู่ 5 ต.บ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 21120
วัดบ้านค่าย เดิมเรียกขานกันว่าวัดชัยชมภูพล ที่มีความหมายว่า ชัยชนะศึกในแผ่นดิน เพราะวัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เคยเป็นป้อมปราการไพร่ผล ช้าง และ ม้าศึกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยที่พระองค์ได้นำทัพไปกอบกู้เอกราชให้ชาติบ้านเมือง โดยการเข้าตีเมืองระยอง ก่อนจะยาตราทัพไปยังจันทบุรี จนได้รับชัยชนะ มีคำบอกเล่าจากหลายทางเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัด จากหลักฐานที่คัดลอกมาจากหนังสือประวัติวัดในจังหวัดระยอง เชื่อกันว่าวัดนี้สร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สมัยที่อาณาจักรขอมยังรุ่งเรืองในแถบนี้ ดังจะเห็นได้จากซากปรักหักพังของโบสถ์เก่าที่ชาวบ้านเรียกโบสถ์ขอม จากร่องรอยของศิลาแลงเก่าแก่ เสมา และธรรมจักรที่มีลวดลายแบบศิลปะขอม ซึ่งจากการพิจสูจน์โดยกรมศิลปากร พบว่ามีอายุร่วม 1,000 ปีเลยทีเดียว จากคำเล่าขาน เชื่อกันว่าวัดนี้ได้ถูกทิ้งร้างมานาน จนมีชาวระยองผู้หนึ่งนามว่านายตาล ได้มาตั้งบ้านเรือนบริเวณนี้ และได้ขอแรงชาวบ้านให้มาช่วยกันสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น ก่อนจะอาราธนาอุปัชฌาย์แป้น จากวัดวงเวียนตะเคียน 7 ต้นมาจำพรรษา จากนั้นก็คิดที่จะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพื่อให้มีสถานที่ประกอบพิธีกรรมและทำกิจของสงฆ์ ทว่าทำเลที่ตั้งของวัดซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำระยองนั้น เป็นจุดที่กระแสน้ำไหลผ่าน ทำให้น้ำเซาะตลิ่งในฤดูน้ำหลาก จึงย้ายวัดมายังตอนล่าง ซึ่งมีผู้ถวายที่ดินให้แก่วัดราว 40 ไร่นามว่านายเรือง เมื่อสร้างวัดใหม่ขึ้นจึงเรียนวัดเดิมว่าวัดบน และวัดใหม่เรียกวัดล่าง ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดบ้านค่าย นอกจากจะเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ยังมีอีกเรื่องเล่าขานขึ้นชื่อเกี่ยวกับวัดบ้านค่าย ก็คือเรื่องราวของหลวงพ่อวงศ์ (พระครูวิจิตรธรรมานุวัติ) เจ้าอาวาสลำดับที่ 7 ของวัด ที่ชาวเมืองร่ำลือว่าท่านเชี่ยวชาญในวิชาไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และแพทย์โบราณ รวมทั้งมีอภิญญาจิต สามารถหยั่งรู้ว่ามีทรัพย์ทสมบัติฝังอยู่ใต้ดินตามจุดต่างๆของบริเวณวัด หลวงพ่อวงศ์ได้ทำการตั้งจิตอธิษฐานขอสมบัตินั้นจากเจ้าของสมบัติ เพื่อนำมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัด เล่ากันว่าเมื่อหลวงพ่อวงศ์ได้ตั้งจิตขอ ก็จะมีสมบัติล้ำค่าปรากฏให้เห็นตามที่ต่างๆ หลวงพ่อวงศ์จึงนำสมบัตินั้นมาเปลี่ยนเป็นเงิน และนำมาบูรณะวัดตามความตั้งใจทีละส่วน จนชาวบ้านได้ยินคำร่ำลือ จึงมีจิตศรัทธาที่จะร่วมบริจาคปัจจัย เพื่อสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ และกุฏิ ภายหลังที่วัดเสร็จสมบูรณ์แล้ว หลวงพ่อวงศ์จึงได้ใช้ปัจจัยที่เหลือซื้อของมีค่าที่คล้ายกับสมบัติเดิมที่ท่านเคยยืมจากผีเจ้าของทรัพย์กลับมาคืน โดยวางในที่ลับตา เล่ากันว่าของมีค่าเหล่านั้นจะหายไปอย่างไร้ร่องรอย วัดนี้จึงเป็นวัดที่ชาวเมืองระยองต่างศรัทธาเลื่อมใสมาจนถึงทุกวันนี้ และเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับวัดและหลวงปู่วงค์ก็ยังคงมีอยู่สืบมา



?3. วัดราชบัลลังก์
? ถ.สุนทรภู่ ต.ทางเวียน อ.แกลง จ.ระยอง 21110
วัดราชบัลลังก์ มีอีกชื่อเรียกว่า “วัดทะเลน้อย” ซึ่งเรียกตามชื่อหมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของวัด ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวัดแห่งนี้ คือเป็นหนึ่งในสถานที่ตั้งค่ายของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2310 พระองค์ได้ทรงช้างพระที่นั่งคีรีบัญชร พร้อมยกกำลังทหารออกจากเมืองระยอง และเสด็จมาพักทัพทีวัดแห่งนี้ เล่าขานกันว่ามีพระองค์ได้ทรงทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย และเรียกขวัญกำลังใจให้แก่ทหาร ชื่อวัดแห่งนี้มาจากบัลลังก์ที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในครั้งนั้น ซึ่งทรงพระราชทานให้แก่วัด พร้อมกับแท่นรองพระบาทที่มีการลงรักปิดทองด้วยฝีมือช่างชั้นสูง ผสมกับลวดลายศิลปะแบบจีน ปัจจุบันได้มีการขนย้ายไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ที่กรุงเทพมหานครแล้ว ภายในวัดยังมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งล้วนแต่มีความเก่าแก่และคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น องค์เจดีย์ ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย ราวปี พ.ศ. 2430 พระอุโบสถหลังเก่า ที่จากบันทึกทางประวัติศาสตร์กล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบไทยกึ่งจีน เห็นได้จากซุ้มประตูและหน้าต่างที่ประดับด้วยกระเบื้องถ้วยลายคราม โดยภายในมีหลวงพ่อหวาย พระพุทธรูปปางมารวิชัยหนึ่งเดียวที่สร้างจากโครงสร้างหวาย ฉาบปูน ปิดทอง เป็นองค์พระประธาน นอกจากนี้ยังมีเครื่องถ้วยลายจีน เครื่องลายคราม เครื่องทองเหลือง รวมถึงตำรายาโบราณ สมุนไพร และคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาไทยที่หลงเหลือไว้เป็นแหล่งความรู้ให้กับคนรุ่นหลังแม้ปัจจุบันจะเสียหายหรือสูญหายไปไม่น้อย แต่ก็ยังมีหลงเหลือให้เห็นอยู่




?4. วัดลุ่ม (หหาชัยชุมพล)
? ถ.ตากสินมหาราช ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง 21000
วัดลุ่ม (มหาชัยชุมพล) ตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2234 เดิมในบริเวณที่ตั้งของวัดแห่งนี้ มีวัด 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน คือ วัดลุ่ม และ วัดเนิน ซึ่งภายหลังได้มีการรวมเป็นวัดเดียวกัน โดยสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรณานวงศ์ (มรว.ชื่น นภวงศ์) เมื่อปี พ.ศ. 2463 เมื่อครั้งเสด็จมาตรวจคณะสงฆ์บริเวณนี้ โดยใช้ชื่อวัดลุ่ม แต่ชาวบ้านนิยมเรียกชื่อวัดมหาชัยชุมพล วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะยกทัพไปตีจันทบุรี โดยสมัยนั้นยังดำรงพระยศเป็นเพียงพระยาตาก พระองค์ทรงเคยเสด็จมาประทับพักแรมที่นี่ และชาวเมืองได้เริ่มขนานนามพระองค์ว่าเจ้าตากสินเป็นครั้งแรกในช่วงเวลานั้นนั่นเอง ปัจจุบันภายในวัด มีพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชขนาดเท่าองค์จริง และศาลที่ประทับของพระองค์ บริเวณด้านหน้าจะมีการจัดนิทรรศการแสดงอัตชีวประวัติพร้อมเส้นทางยาตราทัพของพระองค์ เพื่อให้ความรู้แก่คนรุ่นหลัง พระอุโบสถของวัดลุ่มมีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ เพราะออกแบบและตกแต่งโดยได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน เห็นได้จากหน้าบันปูนปันทาสี ด้านหน้าเป็นรูปมังกร ด้านหลังเป็นรูปหงส์ ตกแต่งด้วยลายพันธุ์พฤกษาและลายสัตว์ขนาดเล็ก ซุ้มหน้านางตกแต่งด้วยลายใบเทศตรง กึ่งกลางเป็นรูปครุฑยุดนาค ภายในเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับกึ่งปางมารวิชัย ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์





?5. วัดโขด (ทิมธาราม)
? 47/1 ถนนสุขุมวิท ต.ท่าประดู่ อ.เมืองระยอง จ.ระยอง 21000
เป็นหนึ่งในวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดระยองเชื่อกันว่าวัดนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราว พ.ศ. 2007 อายุร่วม 500 ปีเลยทีเดียว แต่จากการสำรวจของกรมศิลปากร สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2113 ซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าข้อมูลจากแหล่งใดถูกต้องกันแน่วัดโขดทิมธารามจึงมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และนักท่องเที่ยวสามารถศึกษาร่องรอยอารยธรรมและศิลปะในสมัยอยุธยาได้จากวัดนี้ สิ่งขึ้นชื่อของวัดคือพระอุโบสถเก่าแก่ของวัด ซึ่งเป็นศิลปะโบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ชาวบ้านมักเรียกกันว่าโบสถ์มหาอุด เพราะมีทางเข้าทางเดียว มี 1 ประตู หน้าต่าง 10 บาน ด้านหลังทึบ ซึ่งจะต่างจากอุโบสถใหม่ที่มี 4 ประตู หน้าต่าง 10 บาน จิตรกรรมฝาผนังที่อยู่บนผนังพระอุโบสถเก่า มีทั้งเรื่องราวของทศชาติชาดก ตอนเตมียชาดก และวิธูรบัณฑิต เชื่อกันว่าเป็นผลงานของจิตรกรท้องถิ่นในยุคนั้น นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อขาว พระพุทธรูปปั้นปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพ็ชร ที่ชาวบ้านต่างเคารพสักการะ ตัวองค์ทำจากปูนขาว จึงเป็นที่มาให้ชาวเมืองระยองเรียกหลวงพ่อขาว ไม่มีผู้ใดทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง และก่อสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อว่าหลวงพ่อขาวน่าจะเป็นประธานประจำวิหารเหนือของพระอุโบสถ หลังจากที่ตัวองค์พระทรุดโทรมมาก จึงมีการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2511 ทั้งตัวองค์พระ วิหาร และพระอัครสาวก จึงดูคล้ายของใหม่ในปัจจุบัน

จังหวัดระยองยังมีวัดวาอารามอีกหลายแห่งที่มีความเก่าแก่ อายุหลายร้อยปี ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และได้ทิ้งร่องรอยอารยธรรมที่มีคุณค่าเอาไว้ให้ได้ศึกษาถึงความเจริญรุ่งเรือง และศิลปวัฒนธรรมของคนไทยในสมัยโบราณ ซึ่งนานวันก็จะยิ่งหาชมได้ยากขึ้น เพราะสิ่งต่างๆล้วนแต่เสื่อมลงตามกาลเวลา ใครมีโอกาสก็ควรจะหาเวลามาท่องเที่ยว ชมสถานที่เหล่านี้ดูสักครั้ง เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้และความทรงจำ พร้อมกับได้โอกาสมาเคารพสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวระยอง เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย